วันเสาร์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2554

บทที่ 14 การแก้ปัญหากระบวนการเทคโนโลยีสารสนเทศและการพัฒนาโครงงานคอมพิวเตอร์

ข้อเสนอแนะสำหรับครูและผู้ปกครอง
บทเรียนรู้สอดคล้องกับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๕๑
มาตรฐาน ง ๒.๑ เข้าใจเทคโนโลยีและกระบวนการเทคโนโลยี ออกแบบและสร้างสิ่งของเครื่องใช้หรือ
วิธีการตามกระบวนการเทคโนโลยีอย่างมีคามคิดสร้างสรรค์ เลือกใช้เทคโนโลยีใน
ทางสร้างสรรค์ต่อชีวิต สังคม สิ่งแวดล้อม และมีส่วนร่วมในการจัดการเทคโนโลยีอย่าง
ยั่งยืน
มาตรฐาน ง ๓.๑ เข้าใจ เห็นคุณค่า และใช้กระบวนการเทคโนโลยีสารสนเทศในการสืบค้นข้อมูลการเรียนรู้
การสื่อสาร การแก้ปัญหา การทำงาน และอาชีพอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และมี
คุณธรรม
ตัวชี้วัด : สิ่งที่นักเรียนพึงรู้และปฏิบัติได้

ง. ๒.๑(๕) วิเคราะห์และเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับชีวิตประจำวันอย่าง
สร้างสรรค์ต่อชีวิต สังคมและสิ่งแวดล้อม และมีการจัดการเทคโนโลยีที่ทั้ง
ยั่งยืนด้วยวิธีการของเทคโนโลยีสะอาด
ง. ๒.๑(๕) แก้ปัญหาด้วยกระบวนการเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ
ง. ๒.๑(๗) พัฒนาโครงงานคอมพิวเตอร์
ง. ๒.๑(๙) ติดต่อสื่อสาร ค้นหาข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ต
ง. ๒.๑(๑o) ใช้คอมพิวเตอร์ในการประมวลผลข้อมูลให้เป็นสารสนเทศ เพื่อ
ประกอบการตัดสินใจ
ง. ๒.๑(๑๑) ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศนำเสนองานในรูปแบบที่เหมาะสมตรงตาม
วัตถุประสงค์ของงาน
ง. ๒.๑(๑๒) ใช้คอมพิวเตอร์เพื่อสร้างชิ้นงานหรือโครงงานอย่างมีจิตสำนึกและความ
รับผิดชอบ
ง. ๒.๑(๑๓) บอกข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้ใช้เทคโยนโลยีสารสนเทศ

แนวคิด
ปัจจุบันมนุษย์ต้องการความรวดเร็วในการทำงาน เนื่องจากมีการแข่งขันสูง ดังนั้นจึงนำวิวัฒนาการด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศมาช่วยในการแก้ปัญหาให้กับระบบงานเดิม เพื่อให้ระบบงานใหม่ที่เข้ามาแทนที่เป็นระบบที่มีประสิทธิภาพ และตรงกับความต้องการของผู้ใช้งาน นอกจากนี้การพัฒนาโครงงานของนักเรียน ก็คือแนวทางในการประมวลความรู้และศึกษาค้นคว้าเพื่อนำความรู้ด้านคอมพิวเตอร์มาใช้สร้างนวัตกรรมหรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่
สาระการเรียนรู้
๑.วงจรการพัฒนาระบบสารสนเทศ
๒.การพัฒนาโครงงานคอมพิวเตอร์
๓.ประเภทของโครงงานคอมพิวเตอร์
๔.ขั้นตอนการทำโครงงานคอมพิวเตอร์



กิจกรรมฝึกทักษะที่ควรเพิ่มให้นักเรียน
๑.อธิบายวงจรการพัฒนาระบบสารสนเทศได้
๒.จำแนกประเภทของโครงงานคอมพิวเตอร์ได้
๓.บอกขั้นตอนการทำโครงงานคอมพิวเตอร์ได้

การนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการแก้ปัญหานั้น มนุษย์ต้องการนำมาช่วยเพื่อให้สามารถทำงานได้รวดเร็วขึ้น ซึ่งส่วนมากการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการทำงานนั้น จะต้องศึกษาถึงความเป็นไปได้ ความเหมาะสมในการทำงาน และความคุ้มค่าต่อการลงทุน ดังนั้น เทคโนโลยีสารสนเทศจะเหมาะกับงานที่มีปริมาณมาก งานที่ต้องทำซ้ำ ๆ และงานที่ต้องการความรวดเร็วในการประมวลผลเนื่องจากคุณสมบัติของระบบคอมพิวเตอร์จะช่วยให้ทำงานได้เร็ว ประมวลผลถูกต้อง และมีหน่วยความจำที่สามารถจัดเก็บข้อมูลได้ปริมาณมากแล้ว เมื่อนำระบบคอมพิวเตอร์มาเชื่อมต่อกันโดยใช้การสื่อสารรูปแบบต่างๆ เข้ามาช่วยให้เกิดเป็นระบบเทคโนโลยีสารสนเทศก็จะสามารถเผยแพร่ข้อมูลไปได้ในระยะไกลๆ หรือสามารถนำข้อมูลที่มีมาใช้ร่วมกันได้ ทำให้สามารถประมวลผลได้รวดเร็วขึ้น และสามารถประมวลผลในรูปแบบกระจายได้
จะเห็นได้ว่าในหน่วยงานต่างๆ ได้นำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้ในหน่วยงานเป็นการรองรับการให้บริการในด้านต่างๆ เช่น งานการขายสินค้าในห้างสรรพสินค้า ซึ่งมีจุดขายสินค้าได้หลายจุดในห้างสรรพสินค้า ระบบงานธนาคาร ที่สามารถเชื่อมต่อไปยังธนาคารสาขาและธนาคารอื่นๆได้ หรือในสถานศึกษาก็จะนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ ในการจัดเก็บข้อมูลของนักเรียนในรูปแบบของฐานข้อมูล และเชื่อมต่อระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ไปยังงานทะเบียน งานวัดผล งานวิชาการ งานการเงิน เป็นต้น ในแต่ละงานก็สามารถใช้ฐานข้อมูลร่วมกันได้ การลบหรือแก้ไขข้อมูลนักเรียนก็จะทำได้ง่าย ทำให้ข้อมูลมีความถูกต้องและลดความซ้ำซ้อนในการทำงาน





วงจรการพัฒนาระบบสารสนเทศ
เมื่อเกิดปัญหาหรือมีคามยุ่งยากในการทำงาน มนุษย์จะหาวิธีการในการแก้ปัญหาหาโดยการศึกษาจากระบบงานเดิม แต่ต้องนำมาพัฒนาให้ดีขึ้น ดังนั้นสามารถสรุปวิธีการแก้ปัญหาด้วยกระบวนการเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยใช้หลักการวิเคราะห์และออกแบบระบบ มีวงจรการพัฒนาระบบสารสนเทศ (System Development Life Cycle : SDLC) ๗ ขั้นตอนดังนี้
๑. การกำหนดปัญหา ( Problem Defintion)
การกำหนดปัญหาของระบบงานเดิม หรือระบบงานที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
และการกำหนดปัญหาก็จะเป็นขั้นตอนของการกำหนดขอบเขตของระบบงาน ศึกษาความเป็นไปได้ของระบบงานใหม่ ความต้องการระบบงานของผู้ใช้ นำข้อมูลเหล่านี้มาสรุปเป็นขั้นตอนและขอบเขตในการจัดทำระบบงานใหม่
๒. การวิเคราะห์ ( Analysis )
การวิเคราะห์ระบบงานที่ดำเนินงานอยู่ในปัจจุบัน วิเคราะห์ความต้องการระบบงานใหม่ นำมาสร้างเป็นแบบจำลอง และสร้างเป็นแผนภาพ ( Data Flow Diagram : DFD) เพื่อดูการเชื่อมโยงข้อมูลในแต่ละส่วนการแบ่งขอบเขตของงานฐานข้อมูลที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องในระบบงาน
๓.การออกแบบ ( Desing)
การออกแบบเป็นการนำขั้นตอนจากการวิเคราะห์มาออกแบบ เพื่อสามารถนำระบบนี้ ไปปฏิบัติงานได้จริง การออกแบบเป็นขั้นตอนตั้งแต่การออกแบบการนำข้อมูลเข้า รูปแบบการรับข้อมูล การประมวลผลข้อมูล และการแสดงผลข้อมูลทางจอภาพ ทางรายงาน ในรูปแบบฟอร์มต่างๆในตาละส่วนของหน่วยงาน รวมทั้งการออกแบบฐานข้อมูล
๔.การพัฒนา ( Development )
พัฒนาโปรแกรมด้วยการเลือกภาษาคอมพิวเตอร์ที่เหมาะสมมาใช้ ตามขั้นตอนของระบบงานที่ได้ออกแบบไว้แล้ว ขั้นตอนของการพัฒนาอาจใช้เครื่องมือ CASE Tool ( Computer Aided Software Engineering ) มาช่วย เมื่อทำการพัฒนาระบบเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะต้องจัดทำเอกสารประกอบโปรแกรมต่อไป
๕.การทดสอบ ( Testing )
การทดสอบเป็นขั้นตอนของการทดสอบก่อนที่จะนำระบบไปติดตั้งเพื่อใช้งานจริง ซึ่งจะทดสอบทั้งความถูกต้องตามโครงสร้างของภาษาที่ใช้ในการพัฒนาและความถูกต้องตามความต้องการของผู้ใช้ เมื่อทดสอบระบบถูกต้องพร้อมที่จะนำไปติดตั้งใช้งานแล้วต้องทำการอบรมการใช้ระบบให้แก่ผู้ใช้ด้วย
๖.การติดตั้ง ( Implementation )
การติดตั้งระบบเพื่อใช้งานจริง สามารถนำระบบงานใหม่มาติดตั้งเพื่อใช้งานได้ ๓ ลักษณะ คือ
๖.๑ นำระบบงานใหม่ทำคู่ขนานไปกับระบบงานเดิมเพื่อเป็นการตรวจสอบความถูกต้องไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งวิธีนี้เมื่อระบบใหม่มีปัญหา ก็ยังคงมีระบบเดิมรองรับอยู่ จะไม่ก่อให้เกิดความเสียหายในการทำงาน
๖.๒ นำระบบงานใหม่มาใช้แทนที่ระบบงานเดิมทีละส่วนของงาน เป็นวิธีการที่ไม่ได้ทำการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบในครั้งเดียว แต่จะปรับเปลี่ยนไปครั้งละแผนกหรืองาน เมื่อแผนกใดพร้อมทั้งอุปกรณ์และบุคลากรก็จะทำการเปลี่ยนแปลง
๖.๓ ทำการเปลี่ยนแปลงใหม่ทั้งระบบพร้อมกัน ซึงวิธีนี้จะมีความเสี่ยงสูง เพราะถ้าระบบใหม่ยังมีข้อผิดพลาดทำให้การทำงานเกิดข้อผิดพลาดไปด้วย
๗.การบำรุงรักษา ( Maintenance )
การบำรุงรักษาจะแบ่งออกเป็น ๒ ด้าน คือ
๗.๑ การบำรุงรักษาด้านซอฟแวร์ เช่น เมื่อติดตั้งระบบเพื่อใช้งานในสถานการณ์จริงอาจเกิดข้อผิดพลาดในการทำงาน หรือผู้ใช้ต้องการเพิ่มเติมระบบงาน
๗.๒ การบำรุงรักษาด้านฮาร์ดแวร์ คือ การดูแลอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้อยู่ในสภาพที่สามารถใช้งานได้ ซึ่งอุปกรณ์เหล่านั้นจะถูกตรวจเช็กตามระยะเวลาในการใช้งาน
การพัฒนาโครงงานคอมพิวเตอร์
โครงงานคอมพิวเตอร์ เป็นการศึกษาอย่างอิสระสำหรับผู้เรียน โดยนำความรู้ที่ศึกษามารวบรวมเป็นองค์ความรู้เพื่อสร้างให้เป็นนวัตกรรมหรือสิ่งประดิษฐ์ โดยใช้คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือในการสร้างงาน ซึ่งเป็นการเพิ่มพูนฝึกฝนทักษะด้านคอมพิวเตอร์ เนื่องจากจุดมุ่งหมายหลักในการเรียนการสอนคอมพิวเตอร์ในโรงเรียน เพื่อต้องการให้นักเรียนได้มีความสามารถและความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ และนำความรู้นั้นไปใช้ในแก้ไขปัญหา หรือประดิษฐ์คิดค้นความรู้ใหม่ๆจากเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์
กิจกรรมของโครงงานคอมพิวเตอร์ ประกอบด้วยองค์ประกอบหลักดังนี้
๑.โครงงานคอมพิวเตอร์เป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์
๒.นักเรียนสามารถเลือกเรื่อง หรือหัวข้อที่ต้องการศึกษาค้นคว้าตามความสนใจได้
๓.นักเรียนคิดค้นนวัตกรรมหรือสิ่งประดิษฐ์ด้วยตนเอง ตามความรู้ความสามารถที่ได้ศึกษามา
๔.นักเรียนต้องสามารถศึกษา สรุป วางแผน และนำเสนองานตามขั้นตอนของโครงงานด้วยตนเอง โดยมีครูเป็นที่ปรึกษาโครงงาน
โครงงานคอมพิวเตอร์จัดเป็นงานวิจัยระดับมัธยมศึกษา ดังนั้นครูผู้สอนต้องเปิดโอกาสให้นักเรียนได้พัฒนาความรู้แสดงความสามารถตามศักยภาพของนักเรียน เป็นการเปิดโอกาสและส่งเสริมให้นักเรียนสามารถศึกษาค้นคว้าและเรียนรู้ในเรื่องที่สนใจได้อย่างอิสระทั้งภายในและภายนอกห้องเรียน การจัดทำโครงงานยังเป็นการส่งเสริมพัฒนาการคิดอย่างมีระบบการแก้ปัญหาการตัดสินใจ สร้างความรับผิดชอบในการทำงานให้แก่นักเรียนได้เป็นอย่างดี และยังส่งเสริมให้นักเรียนได้ใช้เวลาในการคิดสร้างสรรค์ในสิ่งที่เป็นประโยชน์
ซึ่งเป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่จะกระตุ้นความสนใจด้านคอมพิวเตอร์ให้แก่นักเรียน ทำให้นักเรียนรู้ถึงศักยภาพและความสามารถของตนเอง ถ้านักเรียนคนใดมีความสนใจด้านคอมพิวเตอร์ก็จะนำความรู้นี้ไปศึกษาต่อ และประกอบอาชีพได้ในอนาคต และการทำโครงงานไม่ได้เป็นเพียงการศึกษาด้านคอมพิวเตอร์ในรูปแบบต่างๆเท่านั้น แต่ยังสามารถนำไปใช้บูรณาการกับวิชาอื่นๆที่เกี่ยวข้องกันได้ ซึ่งตรงตามจุดประสงค์ของการเรียนแบบบูรณาการในปัจจุบัน

ประเภทของโครงงานคอมพิวเตอร์
โครงงานคอมพิวเตอร์ประกอบด้วย ๕ ประเภทดังนี้
๑. โครงงานพัฒนาสื่อเพื่อการศึกษา
โครงงานประเภทนี้ เป็นการใช้คอมพิวเตอร์ผลิตสื่อการเรียนการสอน โดยสร้างโปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยสอน ซึ่งจะประกอบด้วยเนื้อหาแต่ละหน่วยการเรียน แบบฝึกหัดการทดสอบก่อนเรียน และทดสอบหลังเรียน เป็นต้น โดยที่ครูจะใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยสอนนี้ เป็นอุปกรณ์ในการช่วยซ่อมเสริม หรือนำมาใช้ในการทบทวนบทเรียนให้แก่นักเรียนก็ได้ จะทำให้นักเรียนสมารถเรียนเพิ่มเติม หรือทบทวนในเนื้อหาที่ยังไม่เข้าใจได้
๒.โครงงานพัฒนาเครื่องมือ
โครงงานประเภทนี้เป็นการพัฒนาซอฟต์แวร์ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับการทำงานด้านต่างๆ เช่น ซอฟต์แวร์ช่วยในการฝึกพิมพ์ดีด ซึ่งแต่ก่อนจะใช้เครื่องพิมพ์ดีด แต่ในปัจจุบันความนิยมในการใช้พิมพ์ดีดน้อยลงแต่ในการใช้คอมพิวเตอร์มากขึ้น ซึ่งนำ ๒ สิ่งนี้มาประยุกต์ใช้ร่วมกัน เพราะการพิมพ์งานที่ถูกต้องต้องมีทักษะด้านการพิมพ์เหมือนกับเราเรียนพิมพ์ดีด แต่ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์เป็นอุปกรณ์แทนเครื่องพิมพ์ดีด และหลักการพิมพ์แต่ละขั้นตอน ก็ถูกพัฒนาซอฟต์แวร์ เนื่องจากอักษรของแป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์นั้นเหมือนกับแป้นพิมพ์ดีด
โครงงานพัฒนาเครื่องมือประเภทอื่นๆ เช่น ซอฟต์แวร์ในการสร้างภาพ ซอฟต์แวร์ในการคำนวณระยะทาง หรือซอฟต์แวร์หมอดู เป็นต้น ซึ่งนักเรียนมีความสนใจด้านใด ก็สามารถพัฒนาซอฟต์แวร์ สำหรับเป็นเครื่องมือเพื่อประยุกต์ใช้งานกับเหล่านั้น
๓.โครงงานจำลองทฤษฎี
โครงงานจำลองทฤษฎี จะพัฒนาขึ้นมาเพื่อช่วยการจำลองทฤษฎีสาขาต่างๆ ที่ไม่สามารถใช้เหตุการณ์ หรือสถานการณ์จริงได้เป็นโครงงานที่นักเรียนจะต้องศึกษาค้นคว้าความรู้ หลักการ แนวคิด และข้อเท็จจริงต่างๆ ของทฤษฎีนั้นอย่างลึกซึ้ง และสร้างแบบจำลองเหตุการณ์ต่าง ๆ ขึ้นมา ซึ่งโครงงานนี้จะเป็นการสร้างองค์ความรู้และการบูรณาการความรู้อย่างชัดเจน เช่น โครงงานจำลองอุกาบาตรชนโลก จะต้องศึกษาทั้งทฤษฎีด้านคอมพิวเตอร์ วิทยาศาสตร์ และดาราศาสตร์ และนำความรู้ที่ได้มาบูรณาการ เพื่อความถูกต้องตามหลักทฤษฎี
โครงงานจำลองทฤษฎี จะเห็นว่าบริษัทผลิตรถยนต์ได้นำมาใช้ในการสร้างเหตุการณ์จำลอง ในการทดสอบความปลอดภัยของรถยนต์เมื่อรถยนต์พุ่งชนกำแพง คนขับจะมีความปลอดภัยในระดับใด จะใช้หลักการคำนวณตามหลักวิทยาศาสตร์ เมื่อมีความเร็วของรถยนต์ผสมผสานกับแรงกระแทกจะเกิดเหตุการณ์ใดขึ้น
นอกจากนี้โครงงานจำลองทฤษฎี สามารถนำมาทดลองในเรื่องต่าง ๆ ได้อีก เช่น การทดลองสภาวะโลกร้อน การทดลองการขับเครื่องบิน การทดลองระบบสุริยะจักรวาล เป็นต้น
๔.โครงงานประยุกต์ใช้งาน
โครงงานประยุกต์ใช้งาน เป็นโครงงานที่พัฒนาซอฟต์แวร์ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้งานจริงในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะพบว่าปัจจุบันได้พัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับการประยุกต์ใช้งานด้านต่าง ๆ มากมาย เช่นซอฟต์แวร์สำหรับการออกแบบและตกแต่งภายใน ในร้านขายวัสดุก่อสร้าง ได้นำซอฟต์แวร์ประเภทนี้มาช่วยในการตัดสินใจให้แก่ลูกค้า โดยจะสร้างการจำลองตามความต้องการของลูกค้าและลูกค้าก็จะเห็นภาพ เสมือนจริงนั้น ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนแก้ไขได้ในทันที โครงงานประยุกต์ใช้งานจะเป็นการประดิษฐ์ทั้งฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ซึ่งเป็นการคิดประดิษฐ์นวัตกรรมใหม่ ๆ หรือเป็นการพัฒนาปรับเปลี่ยนของเดิมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ซอฟต์แวร์หรือฮาร์ดแวร์ประเภทโครงงานประยุกต์ใช้งานอย่างมากมายในปัจจุบันเพราะมนุษย์ต้องการความสะดวกและรวดเร็ว นอกจากซอฟต์แวร์ที่พัฒนาขึ้นมาจะใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์แล้ว ยังสามารถนำไปใช้กับอุปกรณ์อื่น ๆ ได้อีก เช่น โทรศัพท์มือถือ เครื่องคอมพิวเตอร์แบบพกพา หรือพีดีเอ(PDA: Personal Digital Assistants) ปาล์มคอมพิวเตอร์ (Palm Computer) เป็นต้น
โครงงานประยุกต์ใช้งานในชีวิตประจำวัน เช่น ซอฟแวร์การตรวจสอบสัญญาณโทรศัพท์มือถือ ซอฟต์แวร์การออกแบบผลิตภัณฑ์ ซอฟต์แวร์การตรวจสอบบุคคล เป็นต้น


๕.โครงงานพัฒนาเกม
ในปัจจุบันเกมคอมพิวเตอร์ ได้เข้ามามีบทบาทต่อเยาวชนอย่างยิ่ง ดังนั้นโครงงานพัฒนาเกม จึงเป็นอีกโครงงานที่จะส่งเสริมการสร้างเกมจากจินตนาการของนักเรียน ซึ่งจะทำให้ได้เกมสีขาวที่ไม่มีพิษภัยต่อผู้เล่น หรือเป็นการสร้างเกมในเชิงสร้างสรรค์ โดยใช้ตัวละครตามวรรณคดีเป็นผู้เล่น เช่น เกมผจญภัยทะลุมิติ แต่ตัวละครในเกมจะใช้เป็นหนุมาน พระลักษณ์ พระราม นางสีดา และทศกัณฐ์ ซึ่งเป็นตัวละครในรามเกียรติ์ เป็นการผสมผสานความรู้ด้านวรรณคดีได้เป็นอย่างดี และทำให้ผู้เล่นเกมมีความเข้าใจ สามารถจำลักษณะของตัวละครเหล่านั้นได้ กฎกติกาการเล่นเกมผู้พัฒนาโครงงานสามารถกำหนดขึ้นมาได้เองตามความเหมาะสมหรือพัฒนาเกมประเภทฝึกสมอง ประลองปัญญา เช่น เกมจับคู่ เกมทายคำศัพท์ภาษาอังกฤษเป็นต้น จึงเป็นอีกรูปแบบของโครงงานประเภทนี้ หรือนำบทเรียนที่ยากต่อการท่องจำมาสร้างในลักษณะของเกมจะช่วยให้ผู้เล่นนอกจากได้รับความบันเทิงแล้ว ยังเป็นการท่องจำบทเรียนไปพร้อมกันด้วย
ดังนั้นการสร้างสรรค์เกมและสอดแทรกความรู้เข้าไปก็จะมีประโยชน์มากสำหรับผู้เล่นและผู้ประดิษฐ์คิดค้น
ซึ่งการจัดทำโครงงานคอมพิวเตอร์นั้น นักเรียนจะต้องมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับ
๑.หลักการทำงานของคอมพิวเตอร์
๒.กระบวนการและหลักการในการแก้ปัญหา
๓.หลักการเขียนโปรแกรม
๔.การแทนข้อมูลในคอมพิวเตอร์
จากโครงงานทั้ง ๕ ประเภทนี้ นักเรียนสามารถคิดสร้างสรรค์จากความสนใจและตามจินตนาการของตนเองได้อย่างอิสระ เป็นการเปิดโลกกว้างทางความคิด แต่จะอยู่ภายใต้การให้คำปรึกษาที่ดีของครู




ขั้นตอนการทำโครงงานคอมพิวเตอร์
๑.เลือกหัวข้อโครงงานที่สนใจ
๒.ศึกษาค้นคว้าข้อมูลและทฤษฎีต่างๆ เพื่อใช้ประกอบตามโครงงาน
๓.จัดทำเค้าโครงของโครงงานในแต่ละขั้นตอน เพื่อเป็นกรอบแนวคิด แนวทางในการจัดทำโครงงาน และวางแผนการดำเนินงานตามขั้นตอน นำเสนอครูที่ปรึกษา หรือผู้เชี่ยวชาญที่จะให้คำปรึกษาในการจัดทำโครงงาน
๔.จัดหาอุปกรณ์ทั้งฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ หรือเครื่องมือต่างๆ ที่จะใช้ตามโครงงาน
๕.เริ่มปฏิบัติงานตามโครงงาน
๖.การเขียนรายงานการจัดทำโครงงาน
๗.การนำเสนอและเผยแพร่โครงงาน
องค์ประกอบเค้าโครงงานของโครงงาน ประกอบด้วย
๑.ชื่อโครงงาน โดยระบุประเภทของโครงงานอย่างชัดเจน
๒.ชื่อ นามสกุล ผู้จัดทำโครงงาน
๓.ชื่อ นามสกุล ครูที่ปรึกษาโครงงาน
๔.ระยะเวลาดำเนินงาน
๕.แนวคิด ที่มา และความสำคัญของโครงงาน อธิบายแนวความคิดของการจัดทำโครงงานนี้ แต่ถ้าเป็นเรื่องที่ผู้อื่นทำไว้แล้ว ต้องบอกถึงการปรับปรุง การเพิ่มเติม และประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้น
๖.วัตถุประสงค์ของโครงงาน บอกวัตถุประสงค์ในการจัดทำโครงงานเป็นข้อๆ
๗.หลักการและทฤษฎี โดยอธิบายถึงหลักการและทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับโครงงาน
๘.วิธีดำเนินงาน โดยจะระบุ

๘.๑วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้
๘.๒คุณลักษณะของผลงาน
๘.๓เทคนิคที่ใช้ในการพัฒนา
๘.๔กระบวนในการแก้ปัญหา
๘.๕วิธีการเก็บข้อมูล
๘.๖วิธีการพัฒนา
๘.๗การทดสอบ
๘.๘การนำเสนอผลงาน
๘.๙งบประมาณในการดำเนินโครงงาน
๙.แผนปฏิบัติงาน ให้ระบุการปฏิบัติงานเป็นขั้นตอนตามลำดับ
๑๐.ผลที่คาดว่าจะได้รับจากการทำโครงงานนี้
๑๑.เอกสารอ้างอิงที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้า เพื่อนำมาจัดทำเป็นโครงงานนี้
สรุป
วิธีการในการแก้ปัญหาด้วยกระบวนการเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้ใช้การวิเคราะห์และออกแบบระบบ มีวงจรการพัฒนาระบบสารสนเทศ (SDLC) ๗ ขั้นตอน ซึ่งประกอบด้วยการกำหนดปัญหา การวิเคราะห์ การออกแบบ การพัฒนา การทดสอบ การติดตั้ง และการบำรุงรักษา การนำโครงงานคอมพิวเตอร์เพื่อให้นักเรียนศึกษาค้นคว้าอย่างอิสระในเรื่องที่สนใจ จะแบ่งประเภทของโครงงานออกเป็น ๕ ประเภท ได้แก่ โครงงานพัฒนาสื่อเพื่อการศึกษา โครงงานพัฒนาเครื่องมือ โครงงานจำลองทฤษฎี โครงงานประยุกต์ใช้งาน และโครงงานพัฒนาระบบ


กิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้
๑.แบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่ม กลุ่มละ ๔-๕ คน ให้ช่วยกันช่วยกันระดมความคิดเรื่อง การพัฒนาโครงงานด้านคอมพิวเตอร์ นักเรียนจะพัฒนาโครงงานประเภทใด และมีวัตถุประสงค์ในการทำโครงงานนี้อย่างไร
๒.ให้นักเรียนเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดทำโครงงานตามรายวิชา นักเรียนคิดว่าการพัฒนาโครงงานเหล่านั้นนักเรียนจะได้ประโยชน์อย่างไร
๓.ให้นักเรียนเสนอความคิดเห็นว่า การพัฒนาสื่อเพื่อการศึกษาในรูปแบบต่างๆ จะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างไรต่อนักเรียน และนักเรียนคิดว่าจะลดช่องว่างทางการศึกษาระหว่างนักเรียนในชนบทกับนักเรียนที่อยู่ในเมืองได้หรือไม่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น